ถั่วเขียว

ถั่วเขียว

 

ถั่วเขียว

 

 

 

       ถั่วเขียว ภาษาอังกฤษ Mung Bean, Mung, Golden Gram (กรณีที่เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีเหลือง) ถั่วเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Vigna radiata (L.) R. Wilcz. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) ถั่วเขียวยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกเช่น ถั่วจิม (เชียงใหม่), ถั่วมุม (ภาคเหนือ), ถั่วเขียว ถั่วทอง (ภาคกลาง) เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ถั่วเขียวมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย และในเอเชียกลาง เนื่องจากพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามีการปลูกถั่วเขียวในแคว้นมัธยประเทศ ในประเทศอินเดียมากว่า 4,000 ปีแล้ว และยังปลูกแพร่หลายในพม่า ไทย ศรีลังกา ปากีสถาน อิหร่าน จีน และในภาพตะวันออกของอดีตสหภาพโซเวียต แต่การศึกษาของนักวิจัยในประเทศไทย พบหลักฐานทางโบราณคดีที่ระบุว่าถั่วเขียวมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยโดยพบในถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ในสมัยหินกลางมีอายุราว 10,000 ปี

 

ลักษณะของถั่วเขียว

  • ต้นถั่วเขียว จัดเป็นพืชล้มลุกมีอายุราวหนึ่งปี มีลำต้นตั้งตรงเป็นพุ่ม มีความสูงประมาณ 30-120 เซนติเมตรลำต้นแตกแขนงที่บริเวณโคนและส่วนกลาง แต่มักไม่แตกแขนงที่ข้อใบเลี้ยง และข้อใบจริงคู่แรก สำหรับบางพันธุ์ก็มีลำต้นเลื้อยหรือกึ่งเลื้อย ส่วนลำต้นที่อยู่เหนือใบเลี้ยง ลักษณะค่อนข้างเป็นเหลี่ยมและมีขนอ่อนปกคลุมอยู่ทั่วไป โดยถั่วเขียวเป็นพืชอายุสั้นประมาณ 65-70 วัน สามารถปลูกได้ตลอดปี ใช้น้ำน้อย และทนแล้งได้ดี
  • ใบถั่วเขียว ใบจริงคู่แรกเป็นใบเดี่ยวเกิดอยู่ตรงข้ามกัน ถัดขึ้นไปทั้งหมดเป็นใบจริงประกอบด้วย ใบย่อย 3 ใบ เกิดแบบสลับอยู่บนลำต้น ที่ฐานของก้านใบมีหูใบอยู่ 2 อัน ก้านใบย่อยจะสั้น ใบย่อยและใบกลางมีหูใบย่อย 2 อัน ส่วนใบย่อยด้านข้าง 2 ใบ จะมีหูใบย่อยอยู่ข้างละอัน ลักษณะของใบคล้ายรูปไข่ถึงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีขนาดประมาณ 5-18 x 4-15 เซนติเมตร และใบมีขนปกคลุมอยู่ทั่วไป
  • ดอกถั่วเขียว ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกจะเกิดตามมุมใบที่อยู่ตอนบนของลำต้นและที่ปลายยอดของลำต้นหรือกิ่งก้าน ก้านช่อดอกอาจยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร ช่อดอกเป็นช่อดอกแบบกระจะมีดอกย่อยอยู่หนาแน่น ในช่อหนึ่งๆ จะมีดอกย่อยอยู่ 2-25 ดอก กลีบดอกเป็นสีเหลือง หรือสีขาว หรือสีม่วง มีกลีบ 5 กลีบ ประกอบด้วยกลีบใหญ่ 1 กลีบ กลีบข้าง 2 กลีบ กลีบหุ้มเกสร 2 กลีบ โดยดอกที่บานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร เกสรตัวเมียมีรังไข่ ลักษณะยาวรี โดยรังไข่หนึ่งๆ จะมีออวุลอยู่ประมาณ 10-15 หน่วย ส่วนเกสรตัวผู้มีอยู่ 10 อัน
  • ฝักถั่วเขียว ลักษณะของฝักมีรูปร่างกลมยาว อาจมีความยาวถึง 15 เซนติเมตร ปลายฝักอาจโค้งงอเล็กน้อย เมื่อฝักแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีขาวนวล สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้น โดยในฝักหนึ่งๆ จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 10-15 เมล็ด
  • เมล็ดถั่วเขียว ตาเมล็ดหรือรอยแผลเป็นทางด้านเว้าของเมล็ดถั่วเขียวเรียกไฮลัม (Hilum) ซึ่งมีสีขาว และสีเยื่อหุ้มเมล็ดมีหลายสีด้วยกัน เช่น สีเขียว เหลือง น้ำตาล ดำ หรือแดง ส่วนผิวของเมล็ดอาจจะมันหรือด้านก็ได้ โดยเมล็ด 100 เมล็ดจะมีน้ำหนักประมาณ 2-8 กรัม

 

 

 

 

 

 

สรรพคุณของถั่วเขียว

  1. โพแทสเซียมช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อในร่างกายให้แข็งแรง
  2. ถั่วเขียวมีสารต้านเอนไซม์โปรตีเอสในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านมะเร็ง
  3. ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันและรักษาไข้หวัด
  4. ถั่วเขียวอุดมไปด้วยแมกนีเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ช่วยในการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย ช่วยผลิตโปรตีน และกาดหดตัวข้องกล้ามเนื้อ
  5. ช่วยลดความดันโลหิต
  6. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  7. ช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอล ช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือด ควบคุมน้ำหนักได้ เพราะถั่วเขียวมีส่วนประกอบของไขมันที่ต่ำมาก ไม่มีคอเลสเตอรอล และยังอุดมไปด้วยโปรตีนกับเส้นใยอาหาร
  8. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ
  9. ถั่วเขียวมีฤทธิ์เย็น ออกฤทธิ์ตามเส้นลมปราณของหัวใจและม้าม
  10. ถั่วเขียวอุดมไปด้วยธาตุเหล็กซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกาย
  11. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและเบาหวานได้
  12. ถั่วเขียวอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง และยังช่วยป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย
  13. ช่วยขับร้อน แก้อาการร้อนใน และช่วยแก้พิษในฤดูร้อน
  14. ถั่วเขียวมีประโยชน์ต่อลำคอและผิวหนัง และยังช่วยแก้อาการกระหายน้ำได้อีกด้วย
  15. เมล็ดถั่วเขียวนำมาต้มกับเกลือ ใช้อมเพื่อรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้
  16. ช่วยถอนพิษในร่างกาย
  17. ช่วยกระตุ้นประสาท ถั่วเขียวเป็นแหล่งสำคัญของธาตุโบรอน (Boron) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งกระแสประสาทของสมอง ทำให้ช่วยสมองทำงานได้ฉับไวมากขึ้น และยังอุดมไปด้วยฟอสฟอสรัส ที่ช่วยบำรุงเซลล์ประสาทและสมอง
  18. ช่วยบำรุงสายตา ทำให้ตาสว่าง และรักษาตาอักเสบ (เปลือกสีเขียว)[9] ช่วยแก้อาการตาพร่า ตาอักเสบ ด้วยการรับประทานถั่วเขียวต้มครั้งละ 15-20 กรัมเป็นประจำ
  19. ช่วยรักษาคางทูมที่เป็นใหม่ๆ ด้วยการต้มถั่วเขียว 70 กรัมจนใกล้สุก แล้วใส่แกนกะหล่ำปลีลงไป / หัวต้มอีก 15 นาที กินเฉพาะน้ำวันละ 2 ครั้ง
  20. ช่วยแก้อาการอาเจียนจากการดื่มเหล้า ด้วยการดื่มน้ำถั่วเขียวพอประมาณ
  21. ช่วยขับของเหลวในร่างกาย
  22. ในถั่วเขียวอุดมไปด้วยเส้นใยที่สามารถละลายน้ำได้ดี จึงช่วยในขบวนการทำความสะอาดของร่างกายอย่างเป็นธรรมชาติ
  23. ถั่วเขียวอุดมไปด้วยวิตามินบี2 ที่ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอกได้
  24. ถั่วเขียวมีเส้นใยอาหารสูงจึงช่วยในการขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และยังส่งผลดีต่อระบบลำไส้โดยรวมอีกด้วย
  25. เมล็ดถั่วเขียวนำมาต้มแล้วกินใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  26. ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ
  27. ช่วยบำรุงตับ
  28. ช่วยแก้อาการไตอักเสบ
  29. ช่วยแก้ผดผื่นคัน
  30. ช่วยลดบวม
  31. ช่วยรักษาโรคข้อต่างๆ แก้ขัดข้อ
  32. ช่วยรักษาฝี ด้วยการใช้ถั่วเขียวดิบหรือต้มสุก นำมาใช้ตำแล้วพอกเป็นยารักษาภายนอกช่วยในการบ่มหนองให้ฝีกสุก และยังใช้รักษาอาการอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น แก้ท้องร่วง การคลอดบุตรยาก และโรคท้องมาน
  33. นำมาใช้ตำพอกแผล
  34. ช่วยแก้พิษจากพืช พิษจากสารหนู และพิษอื่นๆ
  35. ถั่วเขียวอุดมไปด้วยวิตามินบี1 ที่ช่วยในการป้องกันโรคเหน็บชาได้เป็นอย่างดี
  36. ถั่วเขียวอุดมไปด้วยโฟเลทสูง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะช่วยป้องกันการพิการแต่กำเนิดของทารกได้

 

 

 

 

 

 

ประโยชน์ของถั่วเขียว

  1. ถั่วเขียวอุดมไปด้วยวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยรักษาและสร้างความแข็งแรงให้กับเซลล์ผิวหนัง ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวและยังช่วยปกป้องผิวจากความเสียหายที่เกิดจากมลภาวะอีกด้วย
  2. สำหรับผู้ที่เป็นสิวฝ้า เนื่องจากความร้อนในร่างกาย ให้รับประทานถั่วเขียวต้มน้ำตาล 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยป้องกันการเกิดสิวและทำให้สิวลดลงได้ เนื่องจากถั่วเขียวมีฤทธิ์เย็น ช่วยตับขับสารพิษกับความร้อนออกจากร่างกายได้
  3. ถั่วเขียวดิบเป็นแหล่งของโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตชั้นยอด สามารถนำมาต้มกับน้ำตาลเพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย และทำให้อิ่มท้องได้นานยิ่งขึ้น
  4. ถั่วเขียวมีโปรตีนสูงเมื่อเทียบกับถั่วเมล็ดแห้งชนิดอื่นๆ และยังเป็นโปรตีนที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ซึ่งโปรตีนที่ได้จากพืช จะช่วยหลีกเลี่ยงการได้รับไขมันที่เกินความจำเป็นจากโปรตีนของเนื้อสัตว์ได้อีกด้วย
  5. โปรตีนจากถั่วเขียวมีคุณสมบัติที่ย่อยง่ายและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายเกือบทั้งหมด
  6. ถั่วเขียวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน โดยเมล็ดใช้เป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ ส่วนลำต้นและเปลือกที่เหลือ สามารถนำมาไถกลบลงดิน เพื่อช่วยบำรุงดินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เนื่องจากมีชีวมวล (Biomass) สูง
  7. ต้นถั่วเขียวที่เก็บฝักแล้ว สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าหญ้าอีกด้วย
  8. ถั่วเขียว สามารถนำมาแปรรูปและใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การนำมาใช้เพาะถั่วงอก หรือใช้ทำแป้งถั่วเขียว ทำวุ่นเส้น ทำซาหริ่ม หรือทำเป็นขนมต่างๆ เช่น ถั่วกวน เต้าส่วน เม็ดขนุน ถั่วแปบ ขนมลูกเต๋า ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ทำข้าวเกรียบ ขนมครองแครง ขนมหันตรา ขนมลูกชุบ ขนมเทียนแก้ว ขนมเปียก ขนมกง ฯลฯ และฝักถั่วเขียวที่เกือบแก่ ยังนำมาใช้ต้มกับเกลือใช้กินเมล็ดได้เช่นเดียวกับถั่วแระ
  9. กากถั่วเขียวเหลือจากโรงงานวุ้นเส้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ หรือใช้ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้
  10. วุ้นเส้นที่ผลิตมาจากถั่วเขียวมีคุณสมบัติการตอบสนองต่อน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ อย่างเช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว หรือเส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว มันจึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  11. ถั่วเขียวยังสามารถนำมาใช้ในด้านความงามได้อีกด้วย โดยทำเป็นสครับถั่วเขียว สูตรทำให้ผิวพรรณชุ่มชื้น โดยไม่ทำลายผิวพรรณ เพราะมีค่า pH เท่ากับผิวกาย และช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของผิว อีกทั้งกลิ่นจากถั่วเขียวยังช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้อีกด้วย วิธีการทำสครับก็คือให้นำถั่วเขียวที่ยังไม่ต้มมาบดพอให้หยาบผสมกับน้ำเปล่าเล็กน้อย หรือน้ำผึ้งก็ได้ แล้วนำมาพอกที่ใบหน้าหรือผิวกายทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วจึงล้างออก
  12. ถั่วเขียวกับสูตรลดเลือนจุดด่างดำ หรือรอยแผลสิว รวมไปถึงรอยแผลที่เกิดจากผื่นคันตามร่างกาย ด้วยการใช้ถั่วเขียว 3 ช้อนโต๊ะ, มันฝรั่ง 1 หัว, และน้ำมันมะกอก 2 ช้อนชา ขั้นแรกก็ให้นำถั่วเขียวและมันฝรั่งมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปต้มจนสุก จากนั้นให้นำถั่วเขียวและเนื้อมันฝรั่งมาบดรวมกันแล้วเติมน้ำมันมะกอกลงไปผสมจนเข้ากัน เสร็จแล้วนำมาใช้ขัดผิวบริเวณที่จุดด่างดำ โดยใช้เวลาขัดอย่างน้อย 5 นาทีแล้วล้างออก
  13. ถั่วเขียวยังถูกนำมาใช้ในการพอกหน้าขัดหน้าและขัดตัวเพื่อช่วยบำรุงผิวพรรณ ดูดซับไขมัน ช่วยลดสิว ป้องกันการเกิดสิว และช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ทำให้ใบหน้าเต่งตึง

 

ข้อควรระวังในการรับประทานถั่วเขียว

  • ผู้ที่มีอาการท้องอืดง่าย ไม่ควรรับประทานถั่วเขียวในปริมาณมากจนเกินไป
  • สำหรับผู้ที่มีร่างกายเย็น-พร่อง ไม่ควรรับประทานถั่วเขียว รวมไปถึงผู้ที่ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ ควรรับประทานถั่วเขียวแต่น้อย เพราะอาจทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระบ่อยหรือท้องเดินได้
  • การรับประทานถั่วเขียวและผลิตภัณฑ์จากถั่วเขียว ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะถ้าหากรับประทานมาเกินความพอดี อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ จึงถูกเปลี่ยนเป็นไขมันไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนอาจทำให้อ้วนได้
  • ถั่วเขียวมีสารพิวรีน (Purine) ระดับปานกลาง ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด    เพราะสารพิวรีนอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการของข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้

 

 

 

 

Credit : http://www.greenerald.com

 10375
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์