มะลิ

 

 

 

มะลิ ชื่อสามัญ Arabian jasmine, Seented Star Jusmine, Jusmine, Kampopot จัดอยู่ในวงศ์ OLEACEAE มะลิ ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกว่า มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน) มะลิป้อม (ภาคเหนือ), มะลิซ้อน มะลิลา (ภาคกลาง),มะลิ มะลิลา มะลิซ้อน (ทั่วไป), เตียมูน (ละว้า-เชียงใหม่), ข้าวแตก (เงี้ยว-แม่งสอน), บักหลี่ฮวย เซียวหน่ำเคี้ยง (จีน), หม้อลี่ฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น “ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา…” หลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกับเพลงพื้นบ้านเพลงนี้ เพราะในสมัยเด็กๆ เราคงเคยเล่นการละเล่นโบราณนี้พร้อมกับร้องเพลงนี้ตามไปด้วย แต่ต่อมาถูกนำไปใช้ในความหมายของอะไรก็ตามที่เดิมดูดี แต่พอเวลาผ่านไป สิ่งที่ดูดีนั้นก็เริ่มเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไป…

 

สรรพคุณของมะลิ

  1. ดอกมะลิมีรสหอมเย็น มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ จิตใจชุมชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย ชูกำลัง (ดอก)
  2. ชาวโอรังอัสลี ในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะใช้รากนำไปต้ม แล้วดื่มน้ำกินเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)
  3. หากมีอาการนอนไม่หลับ ให้ใช้รากแห้งประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาฝนกับน้ำรับประทาน (ราก)
  4. ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกขมับ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ดอก) หรือจะใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดหัวก็ได้ (ราก)
  5. ช่วยแก้เจ็บตา (ดอก)
  6. รากสดใช้ทำเป็นยาล้างตาแก้เยื่อตาอักเสบ (ราก) ใบและรากใช้ทำเป็นยาหยอดตา (ใบ,ราก) บ้างว่าใช้ดอกมะลิสดที่ล้างน้ำสะอาด นำมาต้มกับน้ำจนเดือนสักครู่ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ล้างตาแก้ตาแดง เยื่อตาขาวอักเสบ (ดอก)
  7. ช่วยแก้อาการเจ็บหู (ดอกและใบ)
  8. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้รากสดนำมาทุบให้แหลกคั่วกับเหล้าจนร้อน ใช้พอกบริเวณที่ปวด (ราก) หากปวดฟันผุ ให้ใช้รากมะลิตากแห้งยำมาบดให้เป็นผง ผสมกับไข่แดงที่ต้มสุกแล้วจนได้ยาที่เหนียวข้น ใช้ใส่ในรูฟันผุ (ราก)
  9. ดอกและใบมีรสเผ็ดชุ่ม เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อขับความชื้น แก้ไข้หวัดแดด (ดอกและใบ) รากใช้ฝนกับน้ำเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก)
  10. ใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)
  11. ตำรับยาแก้หวัดแดด มีไข้ ให้ใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว 3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน (ดอก)
  12. ดอกสดนำมาตำใส่พิมเสน  ใช้สุมหัวเด็กแก้ซาง แก้หวัด แก้ตัวร้อน (ดอก)
  13. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)
  14. ดอกแก่ใช้เข้ายาหอมเป็นยาแก้หืด (ดอก)
  15. ช่วยแก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากสด 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)
  16. รากใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก (ราก)
  17. ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกหรือเช็ดบริเวณเต้านมเพื่อให้หยุดการหลั่งของน้ำนมได้ (ดอก)
  18. ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืดแน่น (ใบ) หรือจะใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว 3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย (ดอก)
  19. ช่วยแก้อาการเสียดท้อง (ราก)
  20. ใช้ดอกสดหรือดอกแห้งประมาณ 1.5-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคบิด แก้อาการปวดท้อง (ดอก, ดอกและใบ)
  21. ชาวโอรังอัสลี ในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะนำใบอ่อนใสแช่ในน้ำเย็น ใช้ดื่มกินแก้นิ่วในถุงน้ำดี (ใบ)
  22. ช่วยบำรุงครรภ์รักษา (ดอก)
  23. ช่วยขับประจำเดือนของสตรี (ราก)
  24. ดอกสดนำมาตำใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง ทาฝีหนอง ผิวหนังผื่นคัน เยื่อตาอักเสบ และแก้ปวดหูชั้นกลาง (ดอก) ช่วยแก้ฝีหนอง (ดอกและใบ)
  25. ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แผลโรคผิวหนังเรื้อรัง แก้ฟกช้ำ และบาดแผล (ใบ) หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าวใหม่ๆ นำไปลนไฟ ใช้ทารักษาแผล ฝีพุพอง (ใบ)
  26. รากมีรสเผ็ดขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาชา ยาแก้ปวด ให้ใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวด (ราก)
  27. ใช้แก้กระดูกร้าว ฟกช้ำ ให้ใช้รากแห้ง 1.5 กรัม นำมาฝนกับเหล้ากิน (ราก) หรือจะใช้รากสดตำพอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอกเนื่องจากการหกล้ม (ราก)
  28. ใบมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบ)
  29. ตำรายาไทยจะใช้ดอกมะลิแห้งปรุงเป็นยาหอม โดยจัดให้ดอกมะลิอยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 5, พิกัดเกสรทั้ง 7, พิกัดเกสรทั้ง 9 เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้ไข้ ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น (ดอก)
  30. นอกจากนี้ยังมีการนำดอกมะลิผสมเข้ายาหอมที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน เช่น ในตำรับยาหอมเทพจิต ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมนวโกฐ และยาหอมอินทจักร์ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นดอกมะลิ และยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแก้ไข้มิรู้จักสติสมปฤดี ยาประสะจันทน์แดง ยามหานิลแท่งทอง เป็นต้น (ดอก)

 

 

 

 

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรมะลิ

  • รากมะลิหากกินมากๆ อาจทำให้สลบได้
  • ดอกมะลิที่นำมาใช้แต่งกลิ่นชา ไม่ควรนำมารับประทานเป็นประจำ เพราะอาจทำให้ความจำเสื่อมหรือเป็นคนลืมง่าย
  • ดอกมะลิเป็นยารสหอมเย็น อย่าใช้มากเกินไป เพราะจะไปแสลงกับโรคลมจุกเสียดแน่น
  • การดื่มน้ำลอยดอกมะลิเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันการปลูกและการดูแลรักษามะลิก็เพื่อการค้าเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจมีการใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก

 

 

 

 

ประโยชน์ของมะลิ

  1. ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมและยังมีสีขาวบริสุทธิ์ คนไทยนิยมยกย่องดอกมะลิให้เป็นดอกไม้ของวันแม่แห่งชาติ และดอกมะลิลายังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย
  2. นิยมเก็บดอกเพื่อนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย หรือใช้ทำดอกไม้แห้ง ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นใบชา ใช้อบขนมต่างๆ
  3. ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือการบำบัดโดยการใช้กลิ่นหอม จะใช้น้ำมันหอมระเหยของดอกมะลิ ในการกระตุ้นระบบประสาทสำหรับผู้ที่มีภาวะอ่อนล้าทางจิตใจ เฉื่อยชา อ่อนเพลีย ง่วง ช่วยปรับอารมณ์และสภาพสมดุลของจิตใจให้ดีขึ้น บรรเทาอาการปวดศีรษะ ความเครียด ความกลัว และช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ (ดอก)
  4. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่งกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน ยิ่งในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำจะยิ่งส่งกลิ่นแรง เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ปลูกได้ง่าย ปลูกได้ดีทั้งในพื้นที่แคบหรือในกระถาง เจริญเติบโตเร็ว ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน และสามารถควบคุมการออกดอกได้โดยการควบคุมการให้น้ำและการใส่ปุ๋ยอย่างเหมาะสม
  5. ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าการปลูกต้นมะลิไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้มีความสงบสุข ร่มเย็น เป็นที่ประทับใจแก่ผู้คนรอบข้าง ช่วยเกื้อหนุนให้เกิดความกตัญญูของผู้เป็นลูกที่มีต่อแม่ และเพื่อความสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นมะลิไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และให้ปลูกในวันพุธเพื่อเอาคุณ โดยผู้ปลูกควรเป็นสตรีที่สูงอายุ เพราะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง และยังเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีเป็นที่รับถือแก่บุคคลทั่วไป โดยต้นมะลิที่นิยมปลูกไว้ในบ้านเพื่อความเป็นมงคลมีอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน คือ มะลิซ้อน มะละฉัตร มะลิพวง มะลิวัลย์ และพุทธชาด นอกจากนี้ต้นมะลิยังเป็นต้นไม้ประจำวันเกิดของผู้เกิดวันจันทร์อีกด้วย ซึ่งหมายถึงความนุ่มนวลอ่อนโยน และเรียบร้อย

 

 

 

 

Credit : frynn.com

 11314
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์